ภูมิปัญญาท้องถิ่น การทำเครื่องปั้นดินเผา

27 พฤศจิกายน 2558
 ประเภท : ข่าวประชาสัมพันธ์
ข้อมูลรูปที่เกี่ยวข้อง
ไม่มีข้อมูล!!

ภูมิปัญญาท้องถิ่น

“การทำเครื่องปั้นดินเผา”

ชื่อ – นามสกุล   นางอ่อน  พุ่มพวง

ที่อยู่  48/4  หมู่ 2  ตำบลงิ้วราย  อำเภอนครชัยศรี  จังหวัดนครปฐม

ประวัติความเป็นมา

ป้าอ่อน ผู้ซึ่งมีฝีมือและเป็นนักปั้นยุคสุดท้ายและบ้านเดียวแห่งตำบลงิ้วราย เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนบริเวณนี้ทำนาเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้ปั้นดินเผา จะมีก็แต่หมู่บ้านอื่น ด้วยความผูกพันและเห็นมาตั้งแต่เด็ก ทำให้ป้าอ่อนซึมซับวิธีการทำทีละน้อย เริ่มจากการเป็นเด็กนวดดิน เพื่อให้ดินนิ่มเป็นเนื้อเดียวกัน โดยนวดให้เป็นรูปก้นหอย พอเวลาคนปั้น (สมัยก่อนส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง) หยุดปั้นเพื่อให้นมลูก ป้าอ่อนจะใช้เวลานั้นฝึกฝนค่อยๆ สั่งสมเรื่อยมา จนไม่รู้ว่าเป็นเมื่อใด

การเตรียมดิน จะนำดินซึ่งมีคนนำมาขาย มาร่อนเอาเศษอิฐ หิน กรวด ไม้ ออกจากเนื้อดิน (เวลาขึ้นรูปจะได้ผิวที่เรียบและป้องกันเศษอิฐบาดมือ) จากนั้นนำไปแช่ในอ่างซีเมนต์ให้ดินนิ่ม เมื่อดินนิ่มแล้วจึงนำไปเทในบล็อกปูนพลาสเตอร์เพื่อให้ปูนดูดซับน้ำแทนการตากแดด เมื่อดินหมาดแล้วจึงแกะจากบล็อกนำไปใส่ถุงรอการปั้น

สมัยก่อนแท่นที่ใช้ปั้นจะเป็นแท่นปูนใช้เท้าถีบเพื่อให้แท่นหมุน เมื่อแท่นหมุนแล้วก็ต้องรีบมาปั้นพอใกล้จะหยุดก็กลับไปถีบใหม่ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้สักใบ จากนั้นเริ่มมีการใช้แท่นไฟฟ้าที่มีมอเตอร์เป็นตัวขับเคลื่อน ทำให้ปั้นได้มากขึ้น แบบที่ปั้นก็จะเป็นกระถางใส่กุหลาบใบเล็ก ๆ ที่นิยมมากในช่วงหนึ่ง ป้าอ่อนจะปั้นได้ วันละ 50-100 ใบ แต่พอกระถางพลาสติกเริ่มเข้ามาตีตลาด ทำให้ความนิยมกระถางดินเผาเริ่มลดน้อยลงไป จึงหันมาปรับเลี่ยนแบบเป็นกระถางประดับ หม้อดินของเด็กเล่น ภาชนะใส่ขนมปลากริม เป็นต้น ลวดลายของดินเผา มีทั้งแบบที่ป้าคิดลวดลายเองและแบบที่ร้านค้ามาสั่ง ซึ่งส่วนใหญ่ลูกค้าที่มาสั่งให้เหตุผลว่าการปั้นเองเช่นนี้จะได้ความสุนทรีย์ทางศิลปะมากกว่า

ขั้นตอนการเผา นำเครื่องปั้นมาเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆใส่ในเตา ใช้ทางมะพร้าวผสมกะลามะพร้าวเป็นเชื้อเพลิงในการเผา เพราะให้สีที่สวยกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น ใส่ทีละน้อยเพื่อให้เครื่องปั้นดินเผาได้รับความร้อนที่พอดี ถ้าใส่แรงไปจะทำให้เครื่องปั้นดินเผาแตกและไม่สามารถนำกลับมาใช้หรือหล่อได้อีก

 

ข้อมูลไฟล์ที่เกี่ยวข้อง